คาร์บอนเครดิตกับโซลาร์เซลล์

คาร์บอนเครดิต ไทยมี 4.5 หมื่นล้าน (เครดิต:นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันพุธที่ 31 ตุลาคม 2550)

คาร์บอนเครดิต ไทยมี 4.5 หมื่นล้าน (เครดิต:นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันพุธที่  31 ตุลาคม  2550)

 

Carbon_Credit

“ภาวะโลกร้อน” เป็นประเด็นร้อนที่ทั่วโลกกำลังตระหนัก

Global Warming หรือภาวะโลกร้อน หมายถึง ปรากฏการณ์อันเนื่องมาจากการที่โลกไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ จึงทำให้อุณหภูมิบนพื้นผิวโลกสูงขึ้น  สาเหตุหลักที่ทำให้โลกร้อนขึ้น เพราะทุกวันนี้โลกถูกปกคลุมไปด้วยก๊าซเรือนกระจก ในปริมาณที่เกินดุลธรรมชาติ ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีสภาพคล้ายฟิล์มบางๆ ปิดกั้นชั้นบรรยากาศ เป็นตัวกักเก็บความร้อนไม่ให้สะท้อนออกนอกผิวโลก จึงทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้น  ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัส-ออกไซด์ และคลอโรฟลูโอโรคาร์บอนก๊าซเหล่านี้เกิดจากการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคนเรา เช่น การใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม พิธีสารเกียวโต ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. 2548   มีเงื่อนไขว่า ช่วง พ.ศ. 2551-2555 ให้ประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นสมาชิกของพิธีสารฯ ในกลุ่มบัญชีที่ 1 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศอุตสาหกรรม เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย มีพันธกรณี ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ ร้อยละ 5.2 ระหว่างนี้ แม้ว่าประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่มบัญชีที่ 2 ยังไม่มีพันธกรณีต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามอนุสัญญาฯ   แต่ในพิธีสารเกียวโต ได้เปิดโอกาสให้ประเทศในกลุ่มบัญชีที่ 1 สามารถเข้าไปดำเนินกิจกรรมบางอย่างในกลุ่มประเทศบัญชีที่ 2 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้ลดลงได้ จากการดำเนินกิจกรรมบางอย่างในประเทศกำลังพัฒนา สามารถนำไปใช้คำนวณออกมาเป็นเครดิต เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” หรือเรียกสั้นๆว่า ซี.เครดิตตัวอย่างกิจกรรม หรือสิ่งที่สามารถนำไปคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิต เพื่อใช้ทดแทน หรือลบล้างการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศ ที่พัฒนาแล้ว  เช่น การส่งเสริมให้มีป่าไม้ที่สมบูรณ์ หรือการใช้พลังงานทดแทน ผลิตกระแสไฟฟ้าแทนน้ำมันเชื้อเพลิง    มีการประเมินว่า สภาพผืนป่าที่สมบูรณ์ 1 เอเคอร์ หรือราว 2.5 ไร่ ต้นไม้สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เก็บไว้ในรูปธาตุคาร์บอน ได้ราว 2 ตันคาร์บอนการใช้พลังงานแสงแดด ผลิตกระแสไฟฟ้า 1 หน่วยกิโลวัตต์-ชั่วโมง แทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง สามารถเทียบคำนวณออกมาเป็นคาร์บอนเครดิตได้ 0.6 กิโลกรัม  ในพิธีสารเกียวโต อนุโลมให้ประเทศอุตสาหกรรม ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้นตอของปัญหาภาวะโลกร้อน สามารถนำคาร์บอนเครดิต ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาขายให้ ไปหักลบออกจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ตนเป็นผู้ก่อขึ้น เสมือนเป็นการไถ่บาปถ้านับจำนวนบาปที่ต้องไถ่ เวลานี้สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่จำเป็นต้องจัดหา “คาร์บอนเครดิต” ไว้ไถ่บาปมากที่สุด เพราะเป็นประเทศพัฒนา ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากที่สุด   รองลงมาคือ ญี่ปุ่น และจีน ส่วนประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย เวลานี้มีแนวคิด แตกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ยังไม่ถึงขั้นต้องจัดหาคาร์บอนเครดิตไว้ใช้หักลบกับมลพิษที่ภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นผู้ก่อ ไทยจึงมีโอกาสนำเครดิตที่ได้จากผืนป่าปลูกนับแสนไร่นำไปขายให้ หรือแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์บางอย่าง จากประเทศอุตสาหกรรม ขณะที่อีกฝ่าย เห็นว่า ถึงอย่างไรในอนาคต ไทยจำเป็นต้องลดปริมาณการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามพันธสัญญาในพิธีสารเกียวโตอยู่ดี

การดำรงผืนป่าปลูก ที่มีอยู่นับแสนไร่เอาไว้ ย่อมเป็นเครดิตอย่างดีให้เราสามารถยืนยันกับทั่วโลกได้ว่า เมืองไทยได้ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว หากวันนี้ไทยตัดสินใจขายคาร์บอนเครดิตให้ต่างชาติ ถึงเวลานั้นเราอาจไม่เหลือเครดิตไว้ใช้ และอาจต้องหันไปซื้อหาจากประเทศอื่น ในราคาที่แพงกว่าปัจจุบัน ปัจจุบันในตลาดโลก มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จากการใช้ป่าเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก หรือที่เรียกว่า Carbon Sink ในราคาเฉลี่ยตันละ 15 เหรียญสหรัฐฯ

ขณะนี้ ไทยมีพื้นที่ป่าปลูก (ไม่รวมป่าขึ้นเองธรรมชาติ) ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ประมาณ 150,000 ไร่ อ.อ.ป. เคยคำนวณไว้ว่า โดยเฉลี่ยพื้นที่ป่าปลูก 1 ไร่ มีต้นไม้ 100 ต้น ถ้าไทยตัดสินใจขายคาร์บอนเครดิตจากป่าปลูกจำนวน 150,000 ไร่ที่มีอยู่ จะมีรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 45,000 ล้านบาท เมื่อความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย จึงต้องหาความเห็นจากฝ่ายที่เป็นกลาง ผศ.ดร.สคาร ทีจันทึก รองหัวหน้าภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า ความเห็นของฝ่ายที่อยากเก็บคาร์บอนเครดิตไว้เป็นเครดิตให้ไทยได้ใช้ในวันข้างหน้า แม้จะเป็นมุมมองที่ถูกต้อง แต่ถูกเพียงครึ่งเดียว

“คำว่า คาร์บอนเครดิต หมายถึง ปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ต้นไม้นำไปใช้ในการเติบโตของลำต้นและส่วนต่างๆ ในแต่ละช่วงอายุ ต้นไม้จะสะสมไว้ในรูปธาตุคาร์บอน ที่ตรวจวัดได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์” ดร.สคาร ให้คำนิยามเขาบอกว่า “คาร์บอนเครดิต” จึงเป็นผลพลอยได้ที่เกิดจากการปลูกต้นไม้ ในแต่ละช่วงอายุ ไม่ใช่การขายผืนป่า หรือขายกรรมสิทธิ์ในต้นไม้ให้ใคร ตามที่บางคนเข้าใจผิด ดร.สคารบอกว่า อาจมีผู้สงสัย ประเทศที่ก่อภาวะโลกร้อน กับประเทศที่ขายคาร์บอนเครดิตให้ อยู่ห่างคนละซีกโลก จะดูดซับคาร์บอนเครดิตไปหักล้างกันได้อย่างไร คำเฉลย ก็คือ ระบบนิเวศน์ใหญ่ของโลก จะมีการไหลเวียนถ่ายเทในลักษณะ “ชีวมณฑล” ถึงกันหมด หรือที่เรียกว่า Biosphere จึงเกิดอิทธิพลดูดซับถึงกันได้ทั่วโลก ดร.สคารบอกว่า เคยมีการศึกษาในต้นยูคาลิปตัสอายุ 4 ปี ซึ่งมีน้ำหนักแห้ง ประมาณ 100 กก. พบว่า มีธาตุคาร์บอนที่ต้นยูคาฯเก็บกักไว้ในเนื้อไม้ประมาณ 48-50% หรือคิดเป็นน้ำหนัก 48-50 กก. แต่เมื่อปล่อยให้ต้นยูคาฯอายุ 4 ปี เติบโตต่อไปจนถึงอายุ 6 ปี ปริมาณคาร์บอนที่สะสมไว้ในเนื้อไม้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 66% หรือคิดเป็นน้ำหนัก 66 กก. “การคำนวณหาปริมาณคาร์บอนเครดิตในเนื้อไม้ จะคิดกันเป็นช่วงๆอายุ ในขณะที่ทำการตรวจวัด” ดร.สคาร ว่า เช่น ต้นยูคาลิปตัส อายุ 4 ปี หลังจากวัดคาร์บอนเครดิตเรียบร้อย และมีการตกลงซื้อขายเครดิตกันแล้ว เจ้าของไม้จะตัดไม้ขายเลยทันทีก็ได้ เพราะไม่เกี่ยวกัน ถือว่าไม้เหล่านั้นได้ดูดซับเอาคาร์บอนไว้แล้ว ณ ช่วงเวลาหนึ่ง หรือช่วงที่ไม้อายุ 4 ปี เจ้าของขายคาร์บอนเครดิตไปแล้ว 1 รอบ แต่ยังไม่ตัดไม้ขาย รอจนกว่าไม้มีอายุ 6 ปี ค่อยขายคาร์บอนเครดิตอีกรอบ แล้วจึงตัดไม้ อย่างนี้ก็ทำได้ ดร.สคารสรุปว่า ดังนั้น หากเมืองไทยสามารถส่งเสริมให้มีการปลูกป่ามากขึ้น กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กล่าวคือ ปัจจุบัน อ.อ.ป.ปลูกป่าไว้ 1.5 แสนไร่ เอกชนปลูกไว้อีกประมาณ 2 ล้านไร่ รวมกันวันนี้เมืองไทยมีป่าปลูกทั้งสิ้นราว 2.15 ล้านไร่  ดังนั้น ถ้าสามารถส่งเสริม หรือขยายพื้นที่ปลูกป่าทั่วประเทศได้มากกว่า 2.15 ล้านไร่ การที่เอกชน หรือ อ.อ.ป. จะตัดสินใจขายคาร์บอนเครดิต เอาเงินมาใช้ก่อนที่จะตัดไม้ขาย ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ดร.สคาร ทิ้งท้าย “ที่สำคัญ หลังขายเครดิตไปแล้ว อย่าชะล่าใจ ควรรีบนำเงินส่วนหนึ่งไปเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าให้มากขึ้น ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ ก็อย่าไปขายมัน ก็เท่านั้น”.